วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดก่อนป้องกันได้
“โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาตั้งแต่ 5 วัน หรืออาจยาวนานเกินกว่า 5 ปี เมื่อเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางจะทำให้เกิดอาการแสดงของโรค เช่น กระสับกระส่าย กลืนน้ำลายลำบาก ไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ลม เสียง อาจมีภาวะคลุ้มคลั่งได้ จนในที่สุดจะถึงกับเสียชีวิต ปัจจุบันพบว่าผู้ติดเชื้อเมื่อแสดงอาการของโรคแล้วจะเสียชีวิตทุกราย และยังไม่มียารักษาโรคนี้
การป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า
- นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนตามกำหนด โดยสภากาชาดได้แนะนำว่า สุนัขและแมวควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้ง ทุกปีตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับสุนัขแมวบ่อยๆและในเด็ก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะยังไม่ถูกกัดหรือข่วนโดยการฉีดวัคซีนชนิดก่อนสัมผัสนี้ ต้องฉีดจำนวน 3 เข็ม ตามวันที่กำหนด ซึ่งประโยชน์คือ สามารถกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าได้ และเมื่อถูกกัดหรือข่วน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการฉีดกระตุ้นเพียง 2 เข็มเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า
- ในผู้ที่ถูกกัดหรือข่วนแล้ว แนะนำทำความสะอาดแผลเบื้องต้น และพบแพทย์ทันที
การดูแลผู้ป่วยที่ถูกสัตว์กัดและยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน แบ่งได้เป็น 3 กรณี
- สัมผัสน้ำลายบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณปาก หรือไม่ได้โดนกัด ขีดข่วน หรือไม่มีบาดแผล ไม่ต้องเข้ารับการรักษา
- โดนกัดหรือข่วนแต่ไม่มีบาดแผลเลือดออก หรือสัมผัสน้ำลายบริเวณตาหรือปาก ผู้สัมผัสต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 5 เข็ม (ตามวันที่กำหนด)
- โดนกัด หรือข่วน และมีบาดแผลที่มีเลือดออก ซึ่งถือเป็นแผลที่มีความเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสต้องได้รับการฉีดเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารอบบาดแผล และฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 5 เข็ม (ตามวันที่กำหนด)
การดูแลตนเองเบื้องต้นหลังถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน
- ทำความสะอาดแผลเบื้องต้นทันที โดยใช้น้ำสะอาดและสบู่ฟอกบริเวณที่โดนกัดหรือข่วน ควรทำซ้ำหลายครั้งจนมั่นใจว่าบาดแผลสะอาด
- ใช้ยาฆ่าเชื้อเช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน ใส่บริเวณบาดแผล
- พบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากต้องได้รับการฉีดวัคซีนและยาฆ่าเชื้อในการดูแลแผลที่ถูกกัดหรือข่วน
การดูแลบาดแผลที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน
ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกันแบบล่วงหน้า
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เซรุ่ม ซึ่งมีราคาแพงในกรณีที่ถูกสัตว์กัดและบาดแผลมีเลือดออก
- ปลอดภัย เพราะใช้วัคซีนกระตุ้นช่วยภูมิคุ้มกันถึงระดับป้องกันโรคได้เร็วกว่า ไม่จำเป็นต้องรับเซรุ่ม ลดความเสี่ยงต่ออาการแพ้เซรุ่ม
- เจ็บตัวน้อยกว่า เพราะหากถูกสัตว์กัด จะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 2 เข็ม ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนล่วงหน้า ส่วนใหญ่ต้องฉีดวัคซีน 5 เข็ม และฉีดเซรุ่มรอบๆ แผล ทุกแผล
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.นุชจรี สินสุขพร แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745